ชื่อจริง นางจิระนันท์ พิตรปรีชา
นามปากกา บินหลา นาตรัง (แต่ส่วนใหญ่ใช้นามจริงในงานเขียน)
วันเกิด 25 กุมภาพันธ์ 2498
จังหวัดบ้านเกิด ตรัง
การศึกษาสูงสุด ปริญญาโท Cornell University, USA
ผลงานเขียน บทกวี สารคดี ความเรียง
ผลงานรวมเล่ม (เฉพาะงานเขียน ไม่รวมงานแปล)
รวมบทกวี : “ใบไม้ที่หายไป” (รางวัลซีไรต์ปี 2532)
สารคดี : “ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์”
ความเรียง : “โลกที่สี่” “หม้อแกงลิง” “ชะโงกดูเงา” “อีกหนึ่งฟางฝัน...บทบันทึกแรมทาง”
จิระนันท์ พิตรปรีชา เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2498 ที่อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เป็นบุตรสาวคนเดียวในจำนวนพี่น้อง 3 คน บิดาชื่อนิรันดร์ มารดาชื่อจิระ ทั้งคู่มีกิจการร้าน “สิริบรรณ” ซึ่งขายเครื่องเขียน แบบเรียน และหนังสือ จิระนันท์จึงโตมากับกองหนังสือ และสนใจการอ่านการเขียนมาตั้งแต่ชั้นประถม ชอบแต่งกลอนและเขียนเรียงความได้ดี ในปี พ.ศ.2511 เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนประจำจังหวัด เธอได้รับรางวัลที่ 2 ในการประกวดแต่งกลอนวันปิยมหาราช และได้อ่านกลอนหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง จากนั้นจึงเขียนส่งไปลงพิมพ์ที่ต่าง ๆ เช่น ใน “วิทยาสาร” และ “ชัยพฤกษ์” เคยออกหนังสือในโรงเรียนโดยเขียนเองเกือบทุกคอลัมน์และพิมพ์ดีดเองทั้งหมด หลังจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ แผนกเตรียมเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2515 ได้รับเลือกเป็นดาวจุฬาฯ หลังจากทำงานกิจกรรมชมรมต่างๆ อยู่พักหนึ่ง ก็เกิดสงสัยในคุณค่าของระบบการศึกษาและสังคมมหาวิทยาลัย จึงผันแปรเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองแบบกลุ่มอิสระที่เริ่มก่อตัวขึ้นในยุคนั้น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บทบาทและชื่อเสียงของจิระนันท์เป็นที่รับรู้ทั่วไป งานเขียนในรูปของบทกวีบางชิ้นกลายเป็นหนึ่งในบรรดาวรรคทองของยุคประชาธิปไตย แต่สภาพการณ์ทางการเมืองมีส่วนผลักดันให้จิระนันท์ตัดสินใจ "เข้าป่าจับอาวุธ" พร้อมเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เพื่อนนักศึกษาผู้เป็นสามี และผลิตงานฉันทลักษณ์ออกมาภายใต้นามปากกา "บินหลา นาตรัง" หลังใช้ชีวิตหกปีในป่าโดยให้กำเนิดบุตรชาย 2 คน เธอพบว่าการปฎิบัติงานในป่าเขาไม่ใช่คำตอบ จึงกลับคืนสู่เมืองพร้อมครอบครัว และไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Cornell ประเทศสหรัฐอเมริกา และคงสถานะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Cornell ที่ไม่ได้ศึกษาให้จบหลักสูตร จิระนันท์ พิตรปรีชาได้รับการยกย่องในบทบาทนักต่อสู้ทางอุดมการณ์ในยุค 14 ตุลา และกวีหญิงคนสำคัญของไทย บทกวีชุด “เกิดในกองทัพ” ซึ่งเป็นเอกสารโรเนียวทำมือได้รับการจัดพิมพ์ออกมาในชื่อ “ใบไม้ที่หายไป” ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2532 แม้ในช่วงหลังจะไม่มีผลงานกวีนิพนธ์ เธอยังเขียนบทความสารคดี และแปลบทภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจิระนันท์ทำงานประจำในตำแหน่งที่ปรึกษาและหัวหน้ากลุ่มงานกิจกรรมและเครือข่าย ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
หนังสือซีไรต์ประจำปี 2532
ชื่อหนังสือ ใบไม้ที่หายไป ประเภท กวีนิพนธ์ ผู้แต่ง จิระนันท์ พิตรปรีชา
“ใบไม้ที่หายไป” เป็นรวมบทกวีจำนวน 35 ชิ้นที่ทั้งหมดสะท้อนเรื่องราวของชีวิตช่วงหนึ่งของผู้ประพันธ์ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดระหว่างปี พ.ศ. 2513 – 2529 โดยแบ่งออกเป็น 5 ช่วงเวลา คือ ระหว่าง พ.ศ. 2513 - 2515 เธอคือสาวน้อยวัยเยาว์ผู้มองโลกอันสวยงาม ระหว่าง พ.ศ. 2516 - 2519 เธอคือผู้พลิกภาพลักษณ์ของดาวจุฟัาฯ ไปสู่ผู้มีอุดมการณ์มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาสังคม ระหว่าง พ.ศ. 2520 - 2522 เธอคือทหารป่าผู้เชื่อมั่นว่าตัดสินใจถูกต้องแล้วที่อุทิศตนเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมต่างๆ ระหว่างพ.ศ. 2522 –2523 เธอคือกรวดเม็ดร้าวที่เจ็บช้ำจากความพ่ายแพ้ และเธอได้มีบทบาทของการเป็นแม่ ในช่วงสุดท้าย ระหว่าง พ.ศ. 2523-2529 เธอคือนักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาของการรักษาบาดแผลชีวิตด้วยการเรียนรู้อย่างสุขุม พร้อมกับทำความเข้าใจธรรมชาติและสัจธรรมของชีวิต
รวมบทกวี “ใบไม้ที่หายไป” มีคุณค่าในด้านปลุกจิตสำนึกของสังคม โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับฐานะและบทบาทใหม่ของผู้หญิง ในด้านวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์ได้ใช้ภาษา ถ้อยคำ และกลวิธีการเขียนที่มีพลัง สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความคิดของตนเองสู่ผู้อ่านโดยผสานจินตนาการให้กลมกลืนกับประสบการณ์ในชีวิตอย่างลงตัว “ใบไม้ที่หายไป” สะท้อนแนวคิดที่ดีต่อเยาวชนและนิสิตนักศึกษาโดยปลุกจิตสำนึกให้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ช่วยกันพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน ผลักดันระบบประชาธิปไตยให้เป็นระบอบที่ดีและมีคุณภาพ ลดการทุจริต และมีจิตสำนึกรักสถาบันชาติ พร้อมทั้งรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของตัวเองที่จะเป็นพลังให้แก่ส่วนรวม
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น