วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิสุทธิ์ ขาวเนียม นักเขียนเมืองตรัง

ชมภาพชุด วิสุทธิ์ ขาวเนียม กวีหนุ่มชาวตรัง รับรางวัลชนะเลิศ ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2551 หนังสือประเภทกวีนิพนธ์ ‘ลมมลายู’


สูจิบัตร ผลการประกวดหนังสือดีเด่น รางวัล 'เซเว่นบุ๊คอวอร์ด'
รายนามคณะกรรมการตัดสิน ประเภทกวีนิพนธ์
คำนิยม ของคณะกรรมการตัดสิน
ปกหนังสือ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก
(เป็นหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ฅนตรัง)
วิสุทธิ์ ขาวเนียม ตอนสายๆ ของวันรับรางวัล
28 พฤศจิกายน 2551
เขาแต่งตัวหล่อกว่าตอนอยู่ที่บ้าน วันที่ไปดักกระรอก ยิงนก ตกปลา กับเด็กๆ ข้างบ้าน ค่อนข้างมาก
มาดูกันใกล้ๆ โฉมหน้ากวีหนุ่มชาวตรัง
ผลงานที่ภาคภูมิใจ... นานแล้ว ที่คนจังหวัดตรัง ไม่ได้รับรางวัลประเภทนี้
อืมมมม... อีก 2 ปี ข้างหน้า ผมน่าจะกลับมากรุงเทพฯอีกครั้ง เพื่อรับรางวัลซีไรต์...
เอ้า... ต่างคนต่างถือ  'ลมมลายู' ใหญ่กว่า ก็แหม... ขนาด เอ4 เชียวนะนั่น...
เขินสิท่า... ถ่ายกับพี่จิ๊ด จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ชาวตรัง
รับโล่พระราชทาน ในสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ
รับรางวัลจากรองวศิษฐ์ เดชกุญชร ณ อยุธยา
หายเหนื่อยครับ...
โล่รางวัลสำหรับสำนักพิมพ์ฅนตรัง ที่วิสุทธิ์เป็นผู้รับแทน
เอ้า...มาถ่ายภาพกันหน่อย... มองกันไปคนละทางเลยเชียว...
คณะกรรมการ...
เสริมความหล่อ ก่อนจะบันทึกเทปรายการโทรทัศน์ ช่อง 5
วิสุทธิ์บอกว่า จะออกอากาศวันที่ 5 ธ.ค. 51 เวลา 9 โมงเช้า
เสร็จแล้ว...ลงเรือข้ามฟาก ม่ายรู้จะไปไหนกัน...
แม่น้ำเจ้าพระยา ยามเย็น สวยจัง...
ชมภาพชุด วิสุทธิ์ ขาวเนียม กวีหนุ่มชาวตรัง
รับรางวัลชนะเลิศ เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’ ครั้งที่ 5 ประจำปี 2551
หนังสือประเภทกวีนิพนธ์ ลมมลายู

             วันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 วิสุทธิ์ ขาวเนียม กวีหนุ่มชาวตรัง เดินทางไปรับรางวัลชนะเลิศ เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ลมมลายู’ ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพมหานคร
             กวีนิพนธ์ ลมมลายู เป็นหนังสือรวมบทกวีชุดที่กำลังเผยแพร่อยู่ในหนังสือพิมพ์ฅนตรัง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายปักษ์ของจังหวัดตรัง และส่งเข้าประกวดครั้งนี้ในนามของสำนักพิมพ์ฅนตรัง โดยจัดพิมพ์เพียงจำนวนน้อยเพื่อการส่งเข้าประกวดเท่านั้น
             ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจหนังสือเล่มนี้ โปรดรอคอยการพิมพ์ครั้งต่อไป ที่กำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม นี้
             อนึ่ง วิสุทธิ์ ขาวเนียม เคยเป็นนักเขียนเจ้าของผลงาน วิหารใบไม้ ซึ่งเข้ารอบ 16 คนสุดท้าย ในการประกวดชิงรางวัลซีไรต์ ประเภทบทกวี เมื่อปีที่แล้ว (2550)

...........................................................

คำนิยม โดย วานิช สุนทรนนท์
บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฅนตรัง
ในโอกาสพิมพ์ ‘ลมมลายู ครั้งแรก พฤษภาคม 2551

ลมมลายู วิสุทธิ์ ขาวเนียม...
บทกวีที่จดจารสวยงามถึงความรวดร้าว
ของคนบนแผ่นดิน 3 จังหวัดภาคใต้


             ความจริงแล้ว ผมเพิ่งรู้จักกับวิสุทธิ์ ขาวเนียม มาได้ไม่นานนัก...
             พลันที่โบกมืออำลาจากชีวิตการเมืองในท้องถิ่นเล็กๆ แห่งหนึ่ง เพื่อหันเหลมหายใจให้มาสู่เส้นทางของคนทำหนังสือพิมพ์ ผมก็รู้สึกได้ว่ามีคนอย่างน้อยๆ ก็กลุ่มหนึ่งที่เฝ้ามองว่า ผมกำลังจะทำหนังสือพิมพ์ฅนตรัง ด้วยใจที่ต้องการจะส่งสาส์นและสาระสู่ชุมชนท้องถิ่นจริงๆ หรือเพียงจะอาศัยหนังสือพิมพ์เล็กๆ ฉบับนี้ไปเสาะแสวงผลประโยชน์ใด
             กวีหนุ่มอย่าง วิสุทธิ์ ขาวเนียม ผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และได้รับการกล่าวขานถึงในฝีไม้ลายมือที่เนียนนุ่ม เฉียบคม ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ให้ความสนใจมาตั้งแต่ผมออกหนังสือพิมพ์ฉบับแรกๆ เราเคยพบปะพูดคุยกันครั้งหนึ่ง แต่ยังไปไม่ถึงวาระที่จะขอบทกวีดีๆ เพื่อนำมาลงตีพิมพ์ แม้ลึกๆ ภายในขณะนั้นอยากจะเรียกร้องเสียเหลือเกินแล้ว แต่รับรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นห้วงยามของการดูใจ
             เวลาผ่านพ้นไปเป็นปี เรามาพบกันอีกที วันที่วิสุทธิ์ไปพูดในงานมหกรรมหนังสือภาคใต้ ที่จัดขึ้นมาเพื่อคนทับเที่ยง ก่อนจะแยกย้ายกันกลับหลังเลิกงาน วิสุทธิ์มากระซิบกับผมว่า พี่อย่าเพิ่งไป เดี๋ยวเอากลอนผมไปลงด้วย
             เป็นความรู้สึกดีๆ ที่เป็นสุขขึ้นในฉับพลัน มิเพียงเพราะผมจะมีบทกวีระดับคุณภาพมาประดับหน้าวรรณกรรมให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น แต่ใช่หรือไม่ว่า คำบอกเล่าเพียงสั้นๆ เช่นนั้น ย่อมคล้ายจะบอกย้ำให้รับรู้ว่า รอยย่ำที่ผมเริ่มไว้บนเส้นทางสายนี้ น่าจะเป็นที่ยอมรับของผู้คนมากขึ้น จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ หนังสือพิมพ์ฅนตรังได้รับน้ำใจดีๆ จากวิสุทธิ์ในรูปแบบของบทกวีที่สวย งาม และเพียบพร้อมด้วยคุณค่ามานับจำนวนไม่ถ้วนแล้ว        
 จู่ๆ วันหนึ่งในร้านกาแฟใจกลางเมืองตรัง วิสุทธิ์ได้นำต้นฉบับ ‘ลมมลายู ซึ่งหนากว่าสี่สิบหน้าพิมพ์ฉบับนี้ มาให้ผมดู… ใกล้จะสามสิบปี ที่ผมเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยริมทะเลแห่งเมืองปัตตานี วันเวลาผ่านไปนานพอที่จะหลงลืมเสียงสวดของคนที่นั่น แต่ทันทีที่อ่าน ‘ลมมลายูจากบทแรกไปจนจบที่บทสี่สิบห้า ภาพต่างๆ ของถิ่นที่เคยก่อให้เกิดความใฝ่ฝันสวยงามในวันยังหนุ่มก็พลันหลั่งไหลกลับเข้ามาสู่ความทรงจำ  
ต่างกัน... ตรงวันนี้ ผืนดินที่นั่นฉาบทาไปด้วยสีของความเจ็บปวด และเสียงร้องไห้ อย่างไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด...
            การจดจารบทกวีที่สวย เนียน และสะท้อนให้เห็นถึงชีวิต เลือด เนื้อ ความรุนแรง การสูญเสีย ความรวดร้าวของคนบนแผ่นดินที่นั่น จึงไม่ใช่ความผิดใดๆ ของกวีหนุ่มอย่าง วิสุทธิ์ ขาวเนียม...

http://www.oknation.net/

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

คนเด่นเมืองตรัง นางจิระนันท์ พิตรปรีชา นักเขียนเมืองตรัง



.

จิระนันท์ พิตรปรีชา :  หนังสือซีไรต์ประจำปี 2532 ชื่อหนังสือ ใบไม้ที่หายไป ประเภท กวีนิพนธ์ 






ชื่อจริง  นางจิระนันท์  พิตรปรีชา
นามปากกา  บินหลา  นาตรัง (แต่ส่วนใหญ่ใช้นามจริงในงานเขียน)
วันเกิด  25 กุมภาพันธ์ 2498
จังหวัดบ้านเกิด  ตรัง
การศึกษาสูงสุด  ปริญญาโท  Cornell University, USA
ผลงานเขียน  บทกวี  สารคดี  ความเรียง 
ผลงานรวมเล่ม (เฉพาะงานเขียน ไม่รวมงานแปล)
รวมบทกวี : ใบไม้ที่หายไป (รางวัลซีไรต์ปี 2532)
สารคดี : ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์
ความเรียง :  โลกที่สี่  “หม้อแกงลิง  ชะโงกดูเงา   อีกหนึ่งฟางฝัน...บทบันทึกแรมทาง


จิระนันท์  พิตรปรีชา  เกิดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2498  ที่อำเภอเมือง  จังหวัดตรัง  เป็นบุตรสาวคนเดียวในจำนวนพี่น้อง คน  บิดาชื่อนิรันดร์  มารดาชื่อจิระ ทั้งคู่มีกิจการร้าน “สิริบรรณ” ซึ่งขายเครื่องเขียน แบบเรียน และหนังสือ  จิระนันท์จึงโตมากับกองหนังสือ  และสนใจการอ่านการเขียนมาตั้งแต่ชั้นประถม ชอบแต่งกลอนและเขียนเรียงความได้ดี  ในปี พ.ศ.2511 เมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนประจำจังหวัด เธอได้รับรางวัลที่ 2 ในการประกวดแต่งกลอนวันปิยมหาราช   และได้อ่านกลอนหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง   จากนั้นจึงเขียนส่งไปลงพิมพ์ที่ต่าง ๆ เช่น ใน  วิทยาสาร และ ชัยพฤกษ์   เคยออกหนังสือในโรงเรียนโดยเขียนเองเกือบทุกคอลัมน์และพิมพ์ดีดเองทั้งหมด   หลังจบจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ศึกษาต่อในคณะวิทยาศาสตร์ แผนกเตรียมเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในปี พ.ศ. 2515 ได้รับเลือกเป็นดาวจุฬาฯ  หลังจากทำงานกิจกรรมชมรมต่างๆ อยู่พักหนึ่ง ก็เกิดสงสัยในคุณค่าของระบบการศึกษาและสังคมมหาวิทยาลัย จึงผันแปรเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองแบบกลุ่มอิสระที่เริ่มก่อตัวขึ้นในยุคนั้น  หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บทบาทและชื่อเสียงของจิระนันท์เป็นที่รับรู้ทั่วไป งานเขียนในรูปของบทกวีบางชิ้นกลายเป็นหนึ่งในบรรดาวรรคทองของยุคประชาธิปไตย แต่สภาพการณ์ทางการเมืองมีส่วนผลักดันให้จิระนันท์ตัดสินใจ "เข้าป่าจับอาวุธ" พร้อมเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เพื่อนนักศึกษาผู้เป็นสามี และผลิตงานฉันทลักษณ์ออกมาภายใต้นามปากกา "บินหลา นาตรัง"   หลังใช้ชีวิตหกปีในป่าโดยให้กำเนิดบุตรชาย คน เธอพบว่าการปฎิบัติงานในป่าเขาไม่ใช่คำตอบ จึงกลับคืนสู่เมืองพร้อมครอบครัว และไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Cornell ประเทศสหรัฐอเมริกา และคงสถานะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Cornell ที่ไม่ได้ศึกษาให้จบหลักสูตร    จิระนันท์ พิตรปรีชาได้รับการยกย่องในบทบาทนักต่อสู้ทางอุดมการณ์ในยุค 14 ตุลา และกวีหญิงคนสำคัญของไทย   บทกวีชุด  “เกิดในกองทัพ”  ซึ่งเป็นเอกสารโรเนียวทำมือได้รับการจัดพิมพ์ออกมาในชื่อ  “ใบไม้ที่หายไป” ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี 2532    แม้ในช่วงหลังจะไม่มีผลงานกวีนิพนธ์ เธอยังเขียนบทความสารคดี และแปลบทภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันจิระนันท์ทำงานประจำในตำแหน่งที่ปรึกษาและหัวหน้ากลุ่มงานกิจกรรมและเครือข่าย ที่สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

               
               
หนังสือซีไรต์ประจำปี 2532
ชื่อหนังสือ ใบไม้ที่หายไป ประเภท กวีนิพนธ์
   ผู้แต่ง จิระนันท์ พิตรปรีชา

“ใบไม้ที่หายไป” เป็นรวมบทกวีจำนวน 35 ชิ้นที่ทั้งหมดสะท้อนเรื่องราวของชีวิตช่วงหนึ่งของผู้ประพันธ์ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดระหว่างปี พ.ศ. 2513 – 2529   โดยแบ่งออกเป็น ช่วงเวลา คือ   ระหว่าง พ.ศ. 2513 - 2515 เธอคือสาวน้อยวัยเยาว์ผู้มองโลกอันสวยงาม    ระหว่าง พ.ศ. 2516 - 2519 เธอคือผู้พลิกภาพลักษณ์ของดาวจุฟัาฯ ไปสู่ผู้มีอุดมการณ์มุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาสังคม  ระหว่าง พ.ศ. 2520 - 2522 เธอคือทหารป่าผู้เชื่อมั่นว่าตัดสินใจถูกต้องแล้วที่อุทิศตนเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมต่างๆ    ระหว่างพ.ศ. 2522 –2523 เธอคือกรวดเม็ดร้าวที่เจ็บช้ำจากความพ่ายแพ้ และเธอได้มีบทบาทของการเป็นแม่  ในช่วงสุดท้าย ระหว่าง พ.ศ. 2523-2529 เธอคือนักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา เป็นช่วงเวลาของการรักษาบาดแผลชีวิตด้วยการเรียนรู้อย่างสุขุม พร้อมกับทำความเข้าใจธรรมชาติและสัจธรรมของชีวิต  

รวมบทกวี “ใบไม้ที่หายไป”  มีคุณค่าในด้านปลุกจิตสำนึกของสังคม  โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับฐานะและบทบาทใหม่ของผู้หญิง    ในด้านวรรณศิลป์  ผู้ประพันธ์ได้ใช้ภาษา  ถ้อยคำ และกลวิธีการเขียนที่มีพลัง  สามารถถ่ายทอดอารมณ์และความคิดของตนเองสู่ผู้อ่านโดยผสานจินตนาการให้กลมกลืนกับประสบการณ์ในชีวิตอย่างลงตัว    “ใบไม้ที่หายไป” สะท้อนแนวคิดที่ดีต่อเยาวชนและนิสิตนักศึกษาโดยปลุกจิตสำนึกให้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม ช่วยกันพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืน  ผลักดันระบบประชาธิปไตยให้เป็นระบอบที่ดีและมีคุณภาพ ลดการทุจริต และมีจิตสำนึกรักสถาบันชาติ พร้อมทั้งรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของตัวเองที่จะเป็นพลังให้แก่ส่วนรวม



ที่มา:http://www.seawritethailand.com/

วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ดอกกุหลาบ ประวัติดอกกุหลาบ ความหมายของดอกกุหลาบ

ดอกกุหลาบ ประวัติดอกกุหลาบ ความหมายของดอกกุหลาบ



ดอกกุหลาบ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
          ดอกกุหลาบ ประวัติดอกกุหลาบ ความหมายของดอกกุหลาบ ตำนานดอกกุหลาบ มีความเป็นมาอย่างไร เรามีบทความเรื่องดอกกุหลาบมาฝาก 

          เคยได้ยินคำเปรียบเปรยไหมที่ว่า ผู้หญิงสวยแต่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมก็เปรียบได้ดัง "ดอกกุหลาบ" เพราะดอกกุหลาบนั้น แม้จะมีรูปร่างภายนอกที่สวยงามร วมถึงกลิ่นที่หอมชวนดม แต่มันก็มีหนามแหลม หากไม่ระวังอาจโดนบาดได้ง่าย ๆ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับดอกกุหลาบ 

          กุหลาบนั้นมีชื่อสามัญว่า "Rose" ชื่อทางพฤกษาศาสตร์ว่า "Rosa hybrids" และมีชื่อวงศ์ว่า"Rosaceae" ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง ลักษณะของกุหลาบนั้นมีทั้งไม้พุ่มและไม้เลื้อย ลำต้นและกิ่งจะมีหนาม ส่วนดอกของกุหลาบจะมีทั้งดอกเดี่ยวและเป็นช่อ กลีบดอกมีลักษณะใหญ่ มีไม่ต่ำกว่า 5 กลีบ กุหลาบนั้นมีกลิ่นหอมชวนดม และมีหลายสี เช่น แดง ขาว เหลือง ชมพู ฯลฯ อีกทั้งยังมีหลายชนิดด้วย

          ซึ่งคำว่ากุหลาบนั้นมาจากคำว่า "คุล" ที่ในภาษาเปอร์เซียแปลว่า "สีแดง ดอกไม้ หรือดอกกุหลาบ" โดยในภาษาฮินดีก็มีคำว่า "คุล" แปลว่า "ดอกไม้" และคำว่า "คุลาพ" ก็หมายถึงกุหลาบอย่างที่ไทยเราเรียกกัน แต่ออกเสียงเป็น "กุหลาบ" ส่วนคำว่า "Rose" ในภาษาอังกฤษนั้นมาจากคำว่า"Rhodon" ที่แปลว่ากุหลาบในภาษากรีก


ดอกกุหลาบ

ดอกกุหลาบ


ประวัติดอกกุหลาบ 

 

           กุหลาบเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกมาแต่โบราณ ว่ากันว่ากุหลาบเกิดขึ้นเมื่อ 70 ล้านปีมาแล้ว และเคยมีการค้นพบฟอสซิลของกุหลาบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแต่ก่อนกุหลาบนั้นเป็นกุหลาบป่าและมีรูปร่างไม่เหมือนในทุกวันนี้ แต่เนื่องจากมนุษย์ได้นำเอากุหลาบป่ามาปลูกและผสมพันธุ์จนขยายเป็นพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย

          ตามประวัติศาสตร์เล่าว่ากุหลาบป่าถูกนำมาปลูกไว้ในพระราชวังของจักรพรรดิ์ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 5,000 ปีมาแล้ว ขณะที่อียิปต์เองก็ปลูกกุหลาบเป็นไม้ดอกส่งไปขายให้แก่ชาวโรมัน เพราะชาวโรมันเป็นชาติที่รักดอกกุหลาบมาก แม้ว่าจะสั่งซื้อจากประเทศอียิปต์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังลงทุนสร้างสถานที่ขนาดใหญ่สำหรับปลูกดอกกุหลาบอีกด้วย เพราะสำหรับชาวโรมันแล้วดอกกุหลาบนั้นมีความสำคัญต่อชีวิตประจำวัน อีกทั้งชาวโรมันถือว่าดอกกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของความรัก เป็นทั้งของขวัญ และเป็นดอกไม้สำหรับทำมาลัยต้อนรับแขก รวมถึงเป็นดอกไม้สำหรับงานฉลองต่าง ๆ แถมยังเป็นส่วนประกอบสำหรับทำขนม ทำไวน์ และยาได้อีกด้วย

          และเมื่อเอ่ยถึงดอกกุหลาบแล้ว หลาย ๆ คนก็คงจะนึกถึงเรื่องความรัก เพราะกุหลาบถือเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความโรแมนติก โดยมีบางตำนานเล่าว่า ดอกกุหลาบเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนการกำเนิดของ เทพธิดาวีนัส ซึ่งเป็นเทพแห่งความงามและความรัก วีนัสเป็นที่รู้จักกันในชื่อ อโฟรไดท์ ในตำนานเทพของกรีกได้กล่าวไว้ว่า น้ำตาของเธอหยดลงปะปนกับเลือดของ อคอนิส คนรักของเธอที่ถูกหมูป่าฆ่า เลือดและน้ำตาหยดลงสู่พื้นแล้วกลายเป็นดอกไม้สีแดงเข้มหรือดอกกุหลาบนั่นเอง แต่บางตำนานก็เล่าว่าดอกกุหลาบเกิดจากเลือดของ อโฟรไดท์ เองที่หยดลงสู่พื้น เมื่อเธอแทงตัวเองด้วยหนามแหลม 

          แม้จะไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจนว่าดอกกุหลาบนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับบ้านเราตอนไหน แต่จากบันทึกของ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บันทึกไว้ว่าเห็นกุหลาบที่กรุงศรีอยุธยา และในกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ก็ได้มีการกล่าวถึงกุหลาบเอาไว้ และยังมีตำนานดอกกุหลาบของไทยที่เป็นบทละครพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่อง มัทนะพาธา ในเรื่องเล่าถึงเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ "มัทนา" ซึ่งได้มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "สุเทษณะ" ซึ่งพระองค์ทรงหลงรักเทพธิดา "มัทนา" มาก แต่นางไม่มีใจรักตอบ จึงถูกสาปให้ไปเกิดเป็นดอกกุหลาบ จึงกลายเป็นตำนานดอกกุหลาบแต่นั้นมา

ความหมายดอกกุหลาบ

          โดยดอกกุหลาบนั้นสามารถสื่อความหมายได้หลายอย่าง อาทิ
ดอกกุหลาบ 

 สีกุหลาบสื่อความหมาย

           สีแดง สื่อความหมายถึง ความรักและความปราถนา เป็นดอกไม้ของกามเทพ คิวปิด และอีรอส เป็นสิ่งนำโชคนำความรักมาให้แก่หญิงหรือชายที่ได้รับ

           สีชมพู สื่อความหมายถึง ความรักที่มีความสุขอย่างสมบูรณ์

           สีขาว สื่อความหมายถึง ความมีเสน่ห์ ความบริสุทธิ์ มิตรภาพ และความสงบเงียบ และนำโชคมาให้แก่หญิงหรือชายเช่นเดียวกับกุหลาบแดง

           สีเหลือง สื่อความหมายถึง เราเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเสมอนะ

           สีขาวและแดง สื่อความหมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

           สีส้ม สื่อความหมายถึง ฉันรักเธอเหมือนเดิม

ดอกกุหลาบ
จำนวนกุหลาบสื่อความหมาย

          1 ดอก รักแรกพบ
          2 ดอก แสดงความรู้สึกที่ดีให้กัน
          3 ดอก ฉันรักเธอ
          7 ดอก คุณทำให้ฉันหลงเสน่ห์
          9 ดอก เราสองคนจะรักกันตลอดไป
          10 ดอก คุณเป็นคนที่ดีเลิศ
          11 ดอก คุณเป็นสมบัติชิ้นที่มีค่าชิ้นเดียวของฉัน
          12 ดอก ขอให้เธอเป็นคู่ของฉันเพียงคนเดียว
          13 ดอก เพื่อนแท้เสมอ
          15 ดอก ฉันรู้สึกเสียใจจริงๆ
          20 ดอก ฉันมีความจริงใจต่อเธอ
          21 ดอก ชีวิตินี้ฉันมอบเพื่อเธอ
          36 ดอก ฉันยังจำความหลังอันแสนหวาน
          40 ดอก ความรักของฉันเป็นรักแท้
          99 ดอก ฉันรักเธอจนวันตาย
          100 ดอก ฉันอุทิศชีวิตนี้เพื่อเธอ
          101 ดอก ฉันมีคุณเพียงคนเดียวเท่านั้น
          108 ดอก คุณจะแต่งงานกับฉันไหม
          999 ดอก ฉันจะรักคุณจนวินาทีสุดท้าย
 ดอกกุหลาบ

ความหมายดอกกุหลาบ อื่น ๆ 

            กุหลาบแดงเข้ม (สีเหมือนไวน์แดง) "เธอช่างมีเสน่ห์งามเหลือเกิน"

            กุหลาบตูมสีแดง "ฉันเริ่มรักเธอแล้วจ้ะ"

            กุหลาบบานสีแดง "ฉันรักเธอเข้าแล้ว"

            กุหลาบสีแดงที่โรยแล้ว "ความรักของเรานั้นจบลงแล้ว"

            กุหลาบตูมสีขาว "เธอช่างไร้เดียงสาน่าทะนุถนอมเหลือเกิน ฉันรักเธอ"

            กุหลาบสีขาวที่โรยแล้ว "เสน่ห์ของเธอมันเริ่มลดน้อยถอยลงแล้วนะจ๊ะ"

           กุหลาบตูม สื่อความหมายถึง ความงามและความเยาว์วัย

          และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวที่น่าสนใจของดอกกุหลาบ 

ที่มา:www.kapook.com