วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

หลักการวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่ฟังและดู

หลักการวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่ฟังและดู

การวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่ฟังและดู

                สังคมปัจจุบันช่องทางการนำเสนอข้อมูลให้ดูและฟังจะมีมากมาย  ดังนั้นผู้เรียนควรรู้จักเลือกที่จะดูและฟัง  เมื่อได้รับรู้ข้อมูลแล้ว  การรู้จักวิเคราะห์ วิจารณ์ เพื่อนำไปใช้ในทางสร้างสรรค์  เป็นสิ่งจำเป็นเพราะผลที่ตามมาจากการดูและฟังจะเป็นผลบวกหรือลบแก่สังคม  ก็ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้นี่เอง  นั่นคือผลดีจะเกิดแก่สังคมก็เมื่อผู้ดูและฟังนำผลที่ได้นั้นไปใช้อย่างสร้างสรรค์  หรือในปัจจุบันจะมีสำนวนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายว่าคิดบวกนั่นเอง
เมื่อรู้จักหลักในการดูและฟังแล้ว  ควรจะรู้จักประเภทเพื่อแยกแยะในการนำไปใช้ประโยชน์  ซึ่งอาจสรุปประเภทได้ดังนี้
1.  สื่อโฆษณา  สื่อประเภทนี้ผู้ฟังต้องรู้จุดมุ่งหมาย  เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อให้คล้อยตาม  อาจไม่สมเหตุสมผล  ผู้ฟังต้องพิจารณาไตร่ตรองก่อนซื้อหรือก่อนตัดสินใจ
2.  สื่อเพื่อความบันเทิง  เช่น เพลง, เรื่องเล่า ซึ่งอาจมีการแสดงประกอบด้วย เช่น นิทาน นิยาย หรือสื่อประเภทละคร สื่อเหล่านี้ผู้รับสารต้องระมัดระวัง  ใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจก่อนที่จะซื้อหรือทำตาม  ปัจจุบันรายการโทรทัศน์จะมีการแนะนำว่าแต่ละรายการเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายใด  เพราะเชื่อกันว่าถ้าผู้ใดขาดความคิดในเชิงสร้างสรรค์แล้ว  สื่อบันเทิงอาจส่งผลร้ายต่อสังคมได้  เช่น ผู้ดูเอาตัวอย่างการจี้, ปล้น, การข่มขืนกระทำชำเรา  และแม้แต่การฆ่าตัวตาย  โดยเอาอย่างจากละครที่ดูก็เคยมีมาแล้ว
3.  ข่าวสาร  สื่อประเภทนี้ผู้รับสารต้องมีความพร้อมพอสมควร  เพราะควรต้องรู้จักแหล่งข่าว ผู้นำเสนอข่าว การจับประเด็น ความมีเหตุมีผล รู้จักเปรียบเทียบเนื้อหาจากที่มาของข่าวหลาย ๆ แห่ง เป็นต้น
4. ปาฐกถา  เนื้อหาประเภทนี้ผู้รับสารต้องฟังอย่างมีสมาธิเพื่อจับประเด็นสำคัญให้ได้  และก่อนตัดสินใจเชื่อหรือนำข้อมูลส่วนใดไปใช้ประโยชน์ต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้น ๆอยู่บ้าง
5.  สุนทรพจน์ สื่อประเภทนี้ส่วนใหญ่จะไม่ยาว และมีใจความที่เข้าใจง่าย ชัดเจน แต่ผู้ฟังจะต้องรู้จักกลั่นกรองสิ่งที่ดีไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ
สรุปการฟังอย่างสร้างสรรค์นี้จะต้อง
-                   รู้จุดมุ่งหมายของสารที่ดูและฟังนั้น
-                   รับฟังและดูอย่างตั้งใจและทำความเข้าใจ
-                   รู้จักสรุปและเลือกนำไปใช้ประโยชน์
หลักและแนวทางการฟังและดูอย่างสร้างสรรค์
                1.  ต้องเข้าใจความหมาย  หลักเบื้องต้นจองการจับใจความของสารที่ฟังและดูนั้น  ต้องเข้าใจความหมายของคำ  สำนวนประโยคและข้อความที่บรรยายหรืออธิบาย
2.  ต้องเข้าใจลักษณะของข้อความ  ข้อความแต่ละข้อความต้องมีใจความสำคัญของเรื่องและใจความสำคัญของเรื่องจะอยู่ที่ประโยคสำคัญ ซึ่งเรียกว่า ประโยคใจความ  ประโยคใจความจะปรากฏอยู่ในตอนใดตอนหนึ่งของข้อความ  โดยปกติจะปรากฏอยู่ในตอนต้น ตอนกลาง และตอนท้าย  หรืออยู่ตอนต้นและตอนท้ายของข้อความผู้รับสารต้องรู้จักสังเกต  และเข้าใจการปรากฏของประโยคใจความในตอนต่าง ๆ ของข้อความ  จึงจะช่วยให้จับใจความได้ดียิ่งขึ้น
3.  ต้องเข้าใจในลักษณะประโยคใจความ  ประโยคใจความ คือข้อความที่เป็นความคิดหลัก  ซึ่งมักจะมีเนื้อหาตรงกับหัวข้อเรื่อง เช่น เรื่อง “สุนัข” ความคิดหลักคือ สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่รักเจ้าของ  แต่การฟังเรื่องราวจากการพูดบางทีไม่มีหัวข้อ  แต่จะพูดตามลำดับของเนื้อหา  ดังนั้นการจับใจความสำคัญต้องฟังให้ตลอดเรื่องแล้วจับใจความว่า  พูดถึงเรื่องอะไร คือจับประเด็นหัวเรื่อง  และเรื่องเป็นอย่างไรคือ สาระสำคัญหรือใจความสำคัญของเรื่องนั่นเอง
4.  ต้องรู้จักประเภทของสาร  สารที่ฟังและดูมีหลายประเภท  ต้องรู้จักและแยกประเภทสรุปของสารได้ว่า เป็นสารประเภทข้อเท็จจริง  ข้อคิดเห็นหรือเป็นคำทักทายปราศรัย ข่าว ละคร สารคดี จะได้ประเด็นหรือใจความสำคัญได้ง่าย
5.  ต้องตีความในสารได้ตรงตามเจตนาของผู้ส่งสาร  ผู้ส่งสารมีเจตนาที่จะส่งสารต่าง ๆ กับบางคนต้องการให้ความรู้  บางคนต้องการโน้มน้าวใจ และบางคนอาจจะต้องการส่งสารเพื่อสื่อความหมายอื่น ๆ ผู้ฟังและดูต้องจับเจตนาให้ได้  เพื่อจะได้จับสารและใจความสำคัญได้
                6.  ตั้งใจฟังและดูให้ตลอดเรื่อง  พยายามทำความเข้าใจให้ตลอดเรื่อง  ยิ่งเรื่องยาวสลับซับซ้อนยิ่งต้องตั้งใจเป็นพิเศษและพยายามจับประเด็นหัวเรื่อง  กริยาอาการ ภาพและเครื่องหมายอื่น ๆ ด้วนความตั้งใจ
7.  สรุปใจความสำคัญ  ขั้นสุดท้ายของการฟังและดูเพื่อจับใจความสำคัญก็คือสรุปให้ได้ว่า เรื่องอะไร ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไรและทำไม หรือบางเรื่องอาจจะสรุปได้ไม่ครบทั้งหมดทั้งนี้ย่อมขึ้นกับสารที่ฟังจะมีใจความสำคัญครบถ้วนมากน้อยเพียงใด

วิจารณญาณในการฟังและดู
                พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของ วิจารณญาณไว้ว่า ปัญญาที่สามารถรู้หรือให้เหตุผลที่ถูกต้อง  คำนี้มาจากคำว่า พิจารณ์ หรือวิจารณ์ คำหนึ่ง ซึ่งแปลว่า การคิดใคร่ครวญโดยใช้เหตุผลและคำว่า ญาณ คำหนึ่ง ซึ่งแปลว่าปัญหาหรือ ความรู้ในชั้นสูง
วิจารณญาณในการฟังและดู  คือการรับสารให้เข้าใจเนื้อหาสาระใช้ปัญญาคิดใคร่ครวญโดยอาศัยความรู้ ความคิด เหตุผล และประสบการณ์ประกอบแล้วสามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม
การฟังและดูให้เกิดวิจารณญาณนั้นมีขั้นตอนในการพัฒนาเป็นลำดับบางทีก็อาจเป็นไปอย่างรวดเร็ว  บางทีก็ต้องอาศัยเวลา  ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้  ประสบการณ์ของบุคคลและความยุ่งยากซับซ้อนของเรื่องหรือสารที่ฟัง




ขั้นตอนการฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณมีดังนี้
                1.  ฟังและดูให้เข้าใจเรื่อง  เมื่อฟังเรื่องใดก็ตามผู้ฟังจะต้องตั้งใจฟังเรื่องนั้นให้เข้าใจตลอดเรื่อง  ให้รู้ว่าเนื้อเรื่องเป็นอย่างไร  มีสาระสำคัญอะไรบ้าง พยายามทำความเข้าใจรายละเอียดทั้งหมด
2.  วิเคราะห์เรื่อง  จะต้องพิจารณาว่าเรื่องเป็นเรื่องประเภทใดเป็นข่าว  บทความ เรื่องสั้น นิทาน นิยาย บทสนทนา สารคดี ละคร และเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เป็นเรื่องจริงหรือแต่งขึ้นต้องวิเคราะห์ลักษณะของตังละคร และกลวิธีในการเสนอสารของผู้ส่งสารให้เข้าใจ
3.  วินิจฉัยเรื่อง  คือการพิจารณาเรื่องที่ฟังว่าเป็นข้อเท็จจริง  ความรู้สึกความคิดเห็นและผู้ส่งสารหรือผู้พูดผู้แสดงมีเจตนาอย่างไรในการพูดการแสดง  อาจจะมีเจตนาที่จะโน้มน้าวในจรรโลงหรือแสดงความคิดเห็น  เป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลมีหลักฐานน่าเชื่อถือหรือไม่และมีคุณค่ามีประโยชน์เพียงใด


สารที่ให้ความรู้
                สารที่ให้ความรู้บางครั้งก็เข้าใจง่าย  แต่งบางครั้งที่เป็นเรื่องสลับซับซ้อนก็จะเข้าใจยาก  ต้องใช้การพินิจพิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง  ทั้งนี้ย่อมขึ้นกับเรื่องที่เข้าใจง่ายหรือเข้าใจยาก  ผู้รับมีพื้นฐานในเรื่องที่ฟังเพียงใด  ถ้าเป็นข่าวหรือบทความเกี่ยวหับเกษตรกรผู้มีอาชีพเกษตรย่อมเข้าใจง่าย  ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจนักธุรกิจก็จะได้เข้าใจง่ายกว่าผู้มีอาชีพเกษตร  และผู้พูดหรือผู้ส่งสารก็มีส่วนสำคัญ  ถ้ามีความรู้ในเรื่องนั้นเป็นอย่างดีรู้วิธีเสนอ ก็จะเข้าใจได้ง่าย
ข้อแนะนำในการรับสารที่ให้ความรู้โดยใช้วิจารณญาณมีดังนี้
                1.  เมื่อได้รับสารที่ให้ความรู้เรื่องใดต้องพิจารณาว่าเรื่องนั้นมีคุณค่าหรือมีประโยชน์ควรแก่การใช้วิจารณญาณมากน้อยเพียงใด
2.  ถ้าเรื่องที่ต้องใช้วิจารณญาณไม่ว่าจะเป็นข่าว บทความ สารคดี ข่าว หรือความรู้เรื่องใดก็ตาม  ต้องฟังด้วยความตั้งใจจับประเด็นสำคัญให้ได้  ต้องตีความหรือพินิจพิจารณาว่า ผู้ส่งสารต้องการส่งสารถึงผู้รับคืออะไร  และตรวจสอบหรือเปรียบเทียบกับเพื่อน ๆ ที่ฟังร่วมกันมาว่าพิจารณาได้ตรงกันหรือไม่อย่างไร  หากเห็นว่าการฟังและดูของเราต่างจากเพื่อนด้อยกว่าเพื่อนจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้มีปะสิทธิภาพการฟังพัฒนาขึ้น
3.  ฝึกการแยกแยะข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น เจตคติของผู้พูดหรือแสดงที่มีต่อเรื่องที่พุดหรือแสดงและฝึกพิจารณาตัดสินใจว่าสารที่ฟังและดูนั้นเชื่อถือได้หรือไม่  และเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด
4.  ขณะที่ฟังควรบันทึกสาระสำคัญของเรื่องไว้  ตลอดทั้งประเด็นการอภิปรายไว้เพื่อนำไปใช้
5.  ประเมินสารที่ให้ความรู้ว่า  มีความสำคัญมีคุณค่าและประโยชน์มากน้อยเพียงใด มีแง่คิดอะไรบ้าง และผู้ส่งสารมีกลวิธีในการถ่ายทอดที่ดีน่าสนใจอย่างไร
6.  นำคุณค่าประโยชน์ข้อคิด ความรู้และกลวิธีต่าง ๆ ที่ได้จากการฟังไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต  พัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างเหมาะสม
สารที่โน้มน้าวใจ
สารที่โน้มน้าวใจเป็นสารที่เราพบเห็นประจำจากสื่อมวลชน  จากการบอกเล่าจากปากหนึ่งไปสู่ปากหนึ่ง ซึ่งผู้ส่งสารอาจจะมีจุดมุ่งหมายหลายอย่างทั้งที่ดี และไม่ดี มีประโยชน์หรือให้โทษจุดมุ่งหมายที่ให้ประโยชน์ก็คือ  โน้มน้าวใจให้รักชาติบ้านเมือง  ให้ใช้จ่ายอย่างประหยัด ให้รักษาสิ่งแวดล้อม ให้รักษา
สาธารณสมบัติและประพฤติแต่สิ่งที่ดีงาม  ในทางตรงข้ามผู้ส่งสารอาจจะมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความเสียหาย  มุ่งหมายที่จะโฆษณาชวนเชื่อหรือปลุกปั่น ยุยงให้เกิดการแตกแยก  ดังนั้นจึงต้องมีวิจารณญาณ คิดพิจารณาให้ดีกว่าสารนั้นเป็นไปในทางใด
การใช้วิจารณญาณสารโน้มน้าวใจควรปฏิบัติดังนี้
                        1.  สารนั้นเรียกร้องความสนใจมากน้อยเพียงมด หรือสร้างความเชื่อถือของผู้พูดมากน้อยเพียงใด
2.  สารที่นำมาเสนอนั้น สนองความต้องการพื้นฐานของผู้ฟังและดุอย่างไรทำให้เกิดความปรารถนาหรือความว้าวุ่นขึ้นในใจมากน้อยเพียงใด
3.  สารได้เสนอแนวทางที่สนองความต้องการของผู้ฟังและดูหรือมีสิ่งใดแสดงความเห็นว่าหากผู้ฟังและดูยอมรับข้อเสนอนั้นแล้วจะได้รับประโยชน์อะไร
4.  สารที่นำมาเสนอนั้นเร้าใจให้เชื่อถือเกี่ยวกับสิ่งใด และต้องการให้คิดหรือปฏิบัติอย่างไรต่อไป
5.  ภาษาที่ใช้ในการโน้มน้าวใจนั้นมีลักษณะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์อย่างไรบ้าง


สารที่จรรโลงใจ
                ความจรรโลงใจ  อาจได้จากเพลง ละคร ภาพยนตร์ คำประพันธ์ สุนทรพจน์ บทความบางชนิด คำปราศรัย พระธรรมเทศนา โอวาท ฯลฯ เมื่อได้รับสารดังกล่าวแล้วจะเกิดความรู้สึกสบายใจ สุขใจ คลายเครียด เกิดจินตนาการ มองเห็นภาพและเกิดความซาบซึ้ง  สารจรรโลงใจจะช่วยยกระดับจิตใจมนุษย์ให้สูงขึ้นประณีตขึ้น  ในการฝึกให้มีวิจารณญาณในสารประเภทนี้ควรปฏิบัติดังนี้
1.  ฟังและดูด้วยความตั้งใจ  แต่ไม่เคร่งเครียดทำใจให้สบาย
2.  ทำความเข้าใจในเนื้อหาที่สำคัญ  ใช้จินตนาการไปตามจุดประสงค์ของสารนั้น
3.  ต้องพิจารณาว่าสิ่งฟังและดูให้ความจรรโลงในด้านใด อย่างไรและมากน้อยเพียงใด  หากเรื่องนั้นต้องอาศัยเหตุผล ต้องพิจารณาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่
4.  พิจารณาภาษาและการแสดง  เหมาะสมกับรูปแบบเนื้อหาและผู้รับสารหรือไม่เพียงใด


การวิเคราะห์และวิจารณ์สาร
ความหมายของการวิเคราะห์ การวินิจและการวิจารณ์
          การวิเคราะห์  หมายถึง การที่ผู้ฟังและผู้ดูรับสารแล้วพิจารณาองค์ประกอบออกเป็นส่วน ๆ นำมาแยกประเภทลักษณะ สาระสำคัญของสาร กลวีการเสนอและเจตนาของผู้ส่งสาร
การวินิจ  หมายถึง การพิจารณาสารด้วยความเอาใจใส่ ฟังและดูอย่างไตรตรองพิจารณาหาเหตุผล แยกแยะข้อดีข้อเสีย คุณค่าของสาร ตีความหมายและพิจารณาสำนวน ภาษา ตลอดจนน้ำเสียงและการแสดงของผู้ส่งสาร  พยายามทำความเข้าใจความหายที่แท้จริงเพื่อให้ได้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของผู้วินิจ
การวิจารณ์  หมายถึง การพิจารณาเทคนิคหรือกลวิธีที่แสดงออกมานั้น ให้เห็นว่า น่าคิด น่าสนใจ น่าติดตาม มีชั้นเชิงยอกย้อนหรือตรงไปตรงมา องค์ประกอบใดมีคุณค่าน่าชมเชย องค์ประกอบใดน่าท้วงติงหรือบกพร่องอย่างไร การวิจารณ์สิ่งใดก็ตามจึงต้องใช้ความรู้มีเหตุมีผล มีหลักเกณฑ์และมีความรอบคอบด้วย
ตามปกติแล้ว  เมื่อจะวิจารณ์สิ่งใด  จะต้องผ่านขั้นตอนและกระบวนการของการวิเคราะห์สาร วินิจสาร และประเมินค่าสาร ให้ชัดเจนเสียก่อนแล้ว  จึงวิจารณ์แสดงความเห็นออกมาอย่างมีเหตุมีผลให้น่าคิด น่าฟังและเป็นคำวิจารณ์ที่เชื่อถือได้
การวิจารณ์  ที่รับฟังมาก็เช่นเดียวกัน  ต้องผ่านการวิเคราะห์ วินิจ และประเมินค่าสารนั้นมาก่อนและการวิจารณ์แสดงความคิดเห็นที่จะทำได้อย่างมรเหตุมีผลน่าเชื่อถือนั้น  ผู้รับสารจะต้องรู้หลักเกณฑ์การวิจารณ์แสดงความคิดเห็นตามชนิดของสารเพราะสารแต่ละชนิดย่อมมีองค์ประกอบเฉพาะตัว เช่น ถ้าเป็นข่าวต้องพิจารณาความถูกต้องตามความเป็นจริง  แต่ถ้าเป็นละครจุดูความสมจริง  และพิจารณาโครงเรื่อง เนื้อเรื่อง ฉาก ตัวละคร ภาษาที่ใช้ บาบาทการแสดง ฯลฯ นอกจากรู้หลักเกณฑ์แล้วจะต้องอาศัยการฝึกฝนบ่อย ๆ และอ่านตัวอย่างงานวิจารณ์ของผู้อื่นที่เชี่ยวชาญให้มาก  ก็จะช่วยให้การวิจารณ์ดีมีเหตุผลและน่าเชื่อถือ


สรุป 
                1.  วิจารณญาณในการฟังและดู  หมายถึงการรับสารให้เข้าใจตลอดเรื่องแล้วใช้ปัญญาคิดไตรตรอง  โดยอาศัยความรู้ ความคิด เหตุผล และประสบการณ์เดิมแล้วสามารถนำสาระต่าง ๆ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม  โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.1  ฟังและดูให้เข้าใจตลอดเรื่อง
1.2  วิเคราะห์เรื่อง  ว่าเป็นเรื่องประเภทใด  ลักษณะของเรื่องและตัวละครเป็นอย่างไร  มีกลวิธีในการเสนอเรื่องอย่างไร
1.3  วินิจฉัย  พิจารณาเรื่องที่ฟังเป็นข้อเท็จจริง ความคิดเห็น เจตนาของผู้เสนอเป็นอย่างไร มีเหตุผลน่าเชื่อถือหรือไม่
1.4  การประเมินค่าของเรื่อง  ผ่านขั้นตอน 1 – 3 แล้ว ก็ประมาณว่าเรื่องหรือสารนั้นดีหรือไม่ดี มีอะไรที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
1.5  การนำไปใช้ประโยชน์  ผ่านขั้นตอนที่ 1 – 4 แล้ว ขั้นสุดท้ายคือ นำคุณค่าของเรื่องที่ฟังและดูไปใช้ได้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล
2.  การวิเคราะห์  หมายถึงการแยกแยะประเภท ลักษณะ สาระสำคัญและการนำเสนอพร้อมทั้งเจตนาของผู้พูดหรือผู้เสนอ
การวินิจ  หมายถึงการพิจารณาเรื่องอย่างไตรตรอง  หาเหตุผลข้อดีข้อเสีย  และคุณค่าของสาร
                การวิจารณ์  หมายถึง การพิจารณาอย่างมีหลักเกณฑ์ในเรื่องที่ฟังและดู  ว่ามีอะไรน่าคิดน่าสนใจ น่าติดตาม น่าชมเชย น่าชื่นชมและมีไรบกพร่องบ้าง
                การวิจารณ์สารหรือเรื่องที่ได้ฟังและดู  เมื่อได้วิเคราะห์และวินิจและใช้วิจารณญาณในการฟังและดูเรื่องหรือสารที่ได้รับแล้วก็นำผลมารายงานบอกกล่าวแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งนั้น  อย่างมีเหตุผล มีหลักฐานประกอบ  และเป็นสิ่งสร้างสรรค์

หลักการฟังอย่างวิจารณญาณ การฟังอย่างวิจารณญาณมีหลักปฏิบัติดังนี้
ผู้ฟังพิจารณาว่า ฟังเรื่องอะไรเป็นการฟังประเภทบทความ บทสัมภาษณ์การเล่าเรื่องสรุปเหตุการณ์ ใครเป็นคนพูดคนสัมภาษณ์ ใครเป็นคนเขียนบทความ และหัวข้อนั้นมีคุณค่าแก่การฟังหรือไม่
1.1 พิจารณาผู้ส่งสารว่ามีจุดมุ่งหมาย และมีความจริงใจในการส่งสารนั้นเพียงใด
1.2 พิจารณาผู้ส่งสารว่ามีความรู้ ประสบการณ์หรือความใกล้ชิดกับเรื่องราวในสารนั้นเพียงใด
1.3 พิจารณาผู้ส่งสารว่าใช้กลวิธีในการส่งสารนั้นอย่างไร คือวิธีการธรรมดาหรือยอกย้อนซ่อนปมอย่างไร
1.4 พิจารณาเนื้อหาของสารว่า ส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง ส่วนใดเป็นข้อคิดเห็น
1.5 พิจารณาสารว่าเป็นไปได้ และควรเชื่อเพียงใด
1.6 ผู้ฟังควรประเมินว่าสิ่งที่ฟังมีประโยชน์และมีคุณค่ามากน้อยเพียงไร
หลักการแยกข้อคิดเห็นและข้อเท็จจริง ในการรับฟังสาร นอกจากจะจับใจความสำคัญของเรื่องที่ฟังแล้ว นักเรียนจะต้องแยะแยะได้ว่า ใจความตอนใดเป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวของผู้พูดซึ่งจะมีลักษณะเมื่อพิจารณาความถูกต้องได้ยาก และตอนใดเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องได้ การแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นมีดังนี้
1. การแยกข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลที่สามารถพิสูจน์ได้ เห็นว่าเป็นจริงหรือเป็นเท็จ ได้จากตัวเลขเชิงปริมาณต่างๆ ที่มีอยู่ซึ่งทำการตรวจสอบได้ดังนี้ เช่นประชา หนัก 50 กิโลกรัม ,โอภาสสูงกว่าเสกสรรค์
2. ความคิดเห็นเป็นเรื่องของการคาดคะเนหรือการทำนายโดยอาศัยเหตุผลส่วนตัวซึ่งควรจะเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งหรือสนับสนุน เช่นของเก่าดีกว่าของใหม่ มีเงินดีกว่ามีเกียรติ

ที่มา: http://kunkrunongkran.wordpress.com/